การใช้โวหารในการเขียนเรียงความ

การใช้โวหารในการเขียนเรียงความ

          โวหาร หมายถึง วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ ได้แก่ พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหารและอธิบายโวหาร

         ๑. บรรยายโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ เป็นการเขียนตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ มุ่งความชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ เช่น การเขียนเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ การเขียนรายงาน เขียนตำราและเขียนบทความ

          “ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคอตัวมันสูงใหญ่ใบหูไหวพะเยิบ หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้าวห่อใบตองขึ้นมาให้เขา”

          ๒. พรรณนาโวหาร หมายถึง การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ตลอดจนความรู้สึกต่างๆของผู้เขียน โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน

           สมใจเป็นสาวงามที่มีลำแขนขาวผ่องทั้งกลมเรียวและอ่อนหยัดผิวขาวละเอียดเช่นเดียวกับแขน ประกอบด้วยหลังมืออวบนูน นิ้วเล็กเรียว หลังเล็บมีสีดังกลีบดอกบัวแรกแย้ม”

          ๓. เทศนาโวหารหมายถึง การเขียนอธิบาย ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ ชี้ให้เห็นประโยชน์หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่งสอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน

           “ การทำความดีนั้นเมื่อทำแล้วก็แล้วกัน อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย ราวกับว่าการทำความดีนั้นช่างยิ่งใหญ่นัก ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา ถ้าคิดเช่นนั้นความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียวแต่ถ้าทำแล้วก็ไม่น่านำมาใส่ใจอีก คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี จึงจะเป็นความดีทีสมบูรณ์ ไม่ตกไม่หล่น”

          ๔. อุปมาโวหาร หมายถึง การเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน เปรียบเทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความที่ขัดแย้งกัน

          “ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน”

          ๕. สาธกโวหาร หมายถึง การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อสนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ

          “ อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ เมื่อกวนอูตายแล้วม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำและตายตามเจ้าของไปในไม่ช้า ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่นนอกจากนายของมัน”

 หลักการใช้สำนวนภาษาในเรียงความ

          ๑. ใช้ภาษาให้ถูกหลัก

          ๒.ไม่ควรใช้ภาษาพูด

          ๓. ไม่ควรใช้ภาษาแสลง

          ๔. ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น

          ๕. ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล

          ๖. ผูกประโยคให้กระชับ

สิ่งที่ควรคำนึงในการเขียนเรียงความ

          ๑. เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ และแต่ละย่อหน้าต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน

          ๒. การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียงความในเรื่องที่ตนเองมีความรู้และความสนใจ รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด

          ๓. การเลือกใช้ถ้อยคำ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน มีการใช้โวหารประกอบ ใช้ภาษาระดับทางการ ส่วนภาษาพูด คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนเรียงความ

          ๔.  กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกด การันต์ การเว้นวรรคตอน การเรียบเรียงถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงามและน่าติดตามอ่านจนจบ 

       เมื่อนักเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการเขียนเรียงความมาโดยลำดับ  นับตั้งแต่การเลือกเรื่องการเขียนโครงเรื่อง  การเรียบเรียงเนื้อเรื่องตามองค์ประกอบของเรียงความและการเขียนย่อหน้าที่ดีนักเรียนก็จะได้เรียงความเรื่องหนึ่ง  แต่เรียงความเรื่องนั้นยังนับว่าไม่สมบูรณ์  ถ้านักเรียนยังไม่ได้ทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุง  การตรวจทานเป็นขั้นตอนการเขียนขั้นสุดท้ายที่จำเป็น  ไม่ควรละเลยขั้นตอนนี้อย่างเด็ดขาด  เพราะจะได้ตรวจทานว่าเรื่องนั้นมีภาษาและเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่  เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อนส่งงาน 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล :  http://pensrithai.blogspot.com/2014/02/blog-post_5311.html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กาพย์ฉบัง ๑๖

นิทานเวตาล

นิทานชาดก