เทคนิคการเขียนเรียงความ
เทคนิคการเขียนเรียงความ
ลักษณะเรียงความที่ดี
๑.มีเอกภาพ หมายความว่า เนื้อเรื่องจะต้องมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่กล่าวนอกเรื่อง เรียงความจะมีเอกภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการวางโครงเรื่อง
๒.มีสัมพันธภาพ หมายความว่า เนื้อหาจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตลอดทั้งเรื่อง ความสัมพันธ์ต่อเนื่องของเนื้อหาเกิดจากการจัดลำดับความคิดการวางโครงเรื่องที่ดีและเกิดจากการเรียบเรียงย่อหน้าอย่างมีระบบ
๓.มีสารัตถภาพ หมายความว่า เรียงความแต่ละเรื่องจะต้องมีสาระสมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่องความสมบูรณ์ของเนื้อหาเกิดจากการวางโครงเรื่องที่ดี
หลักการเขียนคำนำ
นักเรียนจะต้องเลือกวิธีการเขียนคำนำให้เหมาะสมกับประเภทของงานเขียนเนื้อหาที่เขียน รวมทั้งผู้รับสารด้วย ปกติมักจะนิยมเขียนคำนำเพียงย่อหน้าเดียว การเขียนคำนำสามารถกระทำได้หลายวิธี
ลักษณะของคำนำที่ดี
- ควรเขียนคำนำให้ตรงและสอดคล้องกับเรื่องที่เขียน
- ไม่ควรเขียนคำนำที่อ้อมค้อม มีเนื้อหาไกลจากเรื่องที่เขียน อาจทำให้ผู้อ่านไม่ทราบจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเขียนเรื่องอะไร
- ไม่ควรเขียนคำนำที่ยาวเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับเนื้อเรื่อง คำนำที่ดีควรมีเพียงย่อหน้าเดียวเท่านั้นอาจมีความยาวประมาณ ๕-๗ บรรทัด (ยกเว้นมีคำประพันธ์ผสมอยู่ด้วย)
- ในการเขียนคำนำไม่ควรออกตัวว่าไม่พร้อม หรือไม่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้อ่านไม่มั่นใจและไม่สนใจในการอ่านได้
- คำนำที่ดี คือ คำนำที่บอกให้รู้ได้ทันทีว่าจะเขียนอะไร และต้องเขียนให้กระชับและเร้าความสนใจด้วย
ตัวอย่างการเขียนคำนำที่ดี
คำนำเริ่มด้วยการยกคำพูด คำคม หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ
“ใครทำให้ข้าเสียใจชั่วครู่ ข้าจะทำให้มันเสียใจไปตลอดชีวิต” เป็นคำกล่าวของพระนางซูสีไทเฮาผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ซึ่งมิใช่คำขู่หรือคำเล่าลือที่ไร้ความจริง ความยำเกรงของผู้คนทั้งในราชสำนักทหารพลเรือนและประชาชนทั่วแผ่นดินที่มีต่อพระนางเป็นสิ่งยืนยันคำกล่าวข้างตนนี้เป็นอย่างดีและยังบอกให้รู้ถึงอำนาจอันล้นฟ้าของผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์และองค์จักรพรรดิเป็นเวลานานถึง ๔๗ ปี”
(ดวงดาว ทิฆัมพร. “ซูสีไทเฮา หญิงบ้านนอกผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าชีวิต,” มิติใหม่. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔, หน้า ๗๔)
คำนำที่เริ่มด้วยบทร้อยกรอง
“สงสารคำทำการนานแล้ว ดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ
มันถูกใช้หลายอย่างไม่วางมือ แต่ละมื้อตรำตรากยากเต็มที
ตำรวจเห็นโจรหาญทำการจับ โจรมันกลับวิ่งทะยานทำการหนี
ทำการป่วยเป็นลมล้มพอดี ทำการจี้จับหมายว่าตายเอย”
วันนี้เริ่มต้นด้วยคำกลอนให้เต็มที่เสียหน่อย เปล่า ผู้เขียนไม่ได้เก่งกาจถึงกับแต่งขึ้นมาเองดอกแต่กลอนข้างบนนี้เป็นพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. ปรากฏในหนังสือประมวญวันเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว แสดงว่ามีคนรำคาญคำว่า ทำการ กันมานานแสนนานแล้วถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังรำคาญอยู่ เพราะแม้แต่ในรายการโทรทัศน์ยอดนิยม รายการหนึ่ง คือ รายการภาษาไทยวันละคำ ก็ยังกล่าวไว้
(นิตยา กาญจนวรรณ, “เรื่องของ “ทำการ””ใน พูดจาภาษาไทย, หน้า ๑๕๙)
คำนำที่โน้มน้าวและชักจูงให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตาม
กินมากแล้วก็ต้องอ้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้ ๆ กันอยู่ แต่คนสมัยนี้ไม่อยากอ้วนเพราะอ้วนแล้วสร้างปัญหาให้มากมาย ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเกาต์ และโรคความดันโลหิตสูง บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนส่วนใหญ่จึงอยากจะผอม แต่ถ้าต้องการผอมก็หยุดกิน เรื่องที่จะทำให้คนอ้วนหยุดกินเป็นการแนะนำง่าย แต่ปฏิบัติตามได้ยาก การสอนคนอ้วนให้กินอย่างถูกวิธี จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
(วินัย ดะส์ลัน, “กินให้ผอม.” เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ ๔ แบบฉบับที่ ๑๙๖, (๘-๑๔ มีนาคม ๒๕๓๙)
คำนำที่กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนเพื่อนำเข้าสู่เรื่อง
ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ สถูปเจดีย์และสถูปเจดีย์ที่มีทั้งความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแห่งหนึ่ง คือ พระปฐมเจดีย์
(วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, “พระปฐมเจดีย์” ใน ๕ นาทีกับศิลปะไทย, หน้า ๒๓๓.)
คำนำที่เริ่มด้วยคำถามหรือข้อความประหลาดใจ
ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่มีข้อความบางตอนอ้างถึงของวิเศษอย่างหนึ่งเรียกว่าตราราหู มีลักษณะประหลาดโดยรูปลักษณ์และคุณสมบัติทำให้เกิดความทึ่งแก่ผู้อ่านว่า สิ่งนี้คืออะไรแน่ และสุนทรภู่ไปได้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนี้มาจากไหน เรื่องตราราหูเป็นอย่างไรน่าจะพิจารณาดู
(ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. “ตราราหูในพระอภัยมณี.” ใน วรรณวิทยา. หน้า ๙๑)
วิธีการเขียนสรุป
การสรุปควรมีเนื้อหาสอดคล้องกับคำนำและประเด็นของเรื่อง ย่อหน้าสรุปไม่ควรยาว (ประมาณ ๕ บรรทัด อาจมีคำประพันธ์ประสมอยู่ด้วย) แต่ให้มีใจความกระชับประทับใจผู้อ่าน วิธีการสรุปมีหลายวิธี นักเรียนอาจนำวิธีการเขียนคำนำบางวิธีมาใช้ในการสรุปได้ เช่น การสรุปด้วยคำถาม การสรุปด้วยคำคม สุภาษิต และบทร้อยกรองหรือสรุปด้วยข้อความที่ให้แง่คิด เป็นต้น
ตัวอย่างการเขียนสรุปความที่ดี
การเขียนสรุปด้วยการฝากข้อคิดและความประทับใจให้แก่ผู้อ่าน
ดังนั้นถ้าเราอยากให้น้ำใจเกิดขึ้นในสังคมของเรา ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองกันทุกคน อย่ามัวเรียกร้องให้คนอื่นมีน้ำใจเพราะถ้าเราไม่มีน้ำใจ การเรียกร้องให้ผู้อื่นมีน้ำใจต่อเราจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว และถ้าเรามีน้ำใจแล้วก็ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมีน้ำใจ น้ำใจของเราต่างหากที่จะเพาะความมีน้ำใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องเรียกร้อง
(ปรีชา ช้างขวัญยืน.“คอลัมน์ปากกาขนนก เรื่องน้ำใจ,สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์.ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๗,หน้า ๕๘.)
การเขียนสรุปด้วยข้อคำคม สุภาษิต และบทร้อยกรอง
ขณะนี้อวิชาอันเนื่องมากจากลัทธิบริโภคนิยมได้เข้าไปสั่นคลอนจรรยาบรรณในทุกวิชาชีพ ทำให้ผู้คนมักมากและมีวิธีการสร้างความยอมรับแปลก ๆ ไม่ได้เว้นแม้แต่นักวิชาการและครูบาอาจารย์ โชคยังดีอยู่บ้างที่ยังเหลือ ผู้ เข้มแข็งออกมาแสดงบทบาทให้ในระดับสาธารณะอยู่บ้างประปราย เป็นกระแสธารน้อยที่ไหลแรงมิพักจะหยุดไหลมีบทบาทสมดังคำยกย่องของกวีของชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ว่า
ครูคือผู้ชี้นำทางความคิด ให้รู้ถูกรู้ผิดคิดอ่านเขียน
ให้รู้ทุกข์ยากรู้พากเพียร ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้รู้สร้างงาน
ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์ ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน
ครูคือผู้สั่งสมอุดมการณ์ ปณิธานเพื่อมวลชนใช่ตนเอง
(กมลสมัย วิชิระไชยโสภณ. นักวิชาการกับสังคม, “ก้าวไกล”. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒,หน้า ๒๓)
การเขียนสรุปด้วยคำถามให้ผู้อ่านเก็บไปคิดหรือไตร่ตรองต่อไป
ภาษาไทยปัจจุบันนี้กำลังเสื่อมมาก ถึงเวลาหรือยังที่เราจะคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังน่าจะกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาลได้แล้วว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการค้นคว้าศึกษาเรื่องภาษาไทยเพื่อเป็นการให้ภาษาไทยมีความเจริญมั่นคงสมกับที่ภาษาเป็นวัฒนธรรมสำคัญยิ่งของชาติ
(เปลือง ณ นคร. “ศาลฎีกาแห่งภาษา”.สารสถาบันภาษาไทย. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓, หน้า ๒๔.)
การเขียนสรุปด้วยการชักชวนให้ปฏิบัติตาม
ที่กล่าวมานั้นเป็นวิธีการโกงการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรใช้วิจารณญาณของท่านตัดสินดูพฤติกรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าเป็นเช่นไร หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากล หรือพบการทุจริตอย่างเห็นได้ชัด อย่าคิดว่าธุระไม่ใช่ แต่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเพื่อขจัดคนเลวให้พ้นจากวงจรประชาธิปไตยของเรา ขอให้เราเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้เพื่อประชาธิปไตยที่สดใสของเราในวันหน้า
(สำนักงานสารนิเทศ.“การซื้อเสียง”, ใน ใจถึงใจ เล่ม ๒. หน้า ๕๑.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น